ดร.ปริญ สิงหนาท แห่ง “ทรัสต์กอล์ฟ” เพราะกอล์ฟ คือความเท่าเทียม

ดร.ปริญ สิงหนาท ผู้ก่อตั้งทรัสต์กอล์ฟ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกซ้อมและพัฒนาศักยภาพการตีกอล์ฟด้วยเทคโนโลยีระดับโลกที่ทันสมัยที่สุด ผู้ที่ใช้เวลาศึกษาเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆและคิดค้นโปรแกรมด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพการเล่นกอล์ฟของนักกอล์ฟรุ่นใหม่ของไทยสู่เวทีระดับอาชีพและระดับโลก 

ทรัสต์กอล์ฟ ได้สร้างนักกอล์ฟตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่แคดดี้, จัดการแข่งขันทรัสต์กอล์ฟทัวร์ ตลอดจนให้การสนับสนุนกีฬากอล์ฟทุกภาคส่วน และมีแผนการสร้าง “ทรัสต์กอล์ฟ ยูนิเวอร์ซิตี้” แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อที่จะขยายไปทั่วโลก

นักฟิสิกส์พัฒนากอล์ฟด้วยเทคโนโลยี                                  

“ดิฉันไม่ใช่นักกีฬาแต่เป็นนักฟิสิกส์ ชอบเล่นกีฬาไม่กี่ประเภทอย่าง ยิงปืน กอล์ฟ และเปตอง คือเป็นกีฬาที่ไม่เคลื่อนที่มาก จะสังเกตเห็นได้ว่าทั้ง 3 อย่างเป็นกีฬาที่ไม่เคลื่อนที่มากนัก ตัวจะอยู่นิ่งๆและยิงไปที่เป้า แต่ในฐานะนักฟิสิกส์เมื่อมองกีฬาแล้วมีความสนใจว่า เราจะพัฒนาเด็กไทย พัฒนานักกีฬาไทยอย่างไรด้วยเทคโนโลยี”

“ยกตัวอย่างการฝึกทักษะกีฬาให้คนที่เขาบอกว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” มีสโลปทางซ้าย ทางขวา เด็กมักจะมองไม่ออกแยกไม่ได้ว่า 1 เปอร์เซ็นต์ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงอยากจะเปลี่ยนข้อจำกัดของตาหรือความรู้สึกของมนุษย์ ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการฝึกสอนช่วยโค้ชที่จะฝึกนักกีฬาด้วยการให้ข้อมูลหรือใช้เครื่องมือต่างๆมากขึ้นและสามารถนำมาวางแผนประกอบการฝึกซ้อมได้”  

“เมื่อเราพัฒนานักกีฬาแล้ว เรามีนักกีฬาเก่งๆจะไปเล่นได้ที่ไหน ถ้าเล่นในบ้านก็จะวนเวียนกันอยู่แค่นี้ แล้วนักกีฬาเก่งๆที่เราสร้างขึ้นมานั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเก่งแค่ไหน เมื่อเด็กยังไม่เคยไปเล่นในระดับโลกเราจึงสร้างโอกาสให้มีเวทีในการพัฒนาเด็กขึ้นมาต่อยอดให้มีโอกาสไปเล่นต่างประเทศหรือนำนักกีฬาต่างประเทศมาแข่งในบ้านเรา เพื่อจะได้รู้ว่าเราอยู่จุดไหน ในการเป็นนักกอล์ฟระดับเอเชียนทัวร์หรือเลดีส์ ยูโรเปี้ยนส์ทัวร์”

ต้องสร้าง “ประชากรกอล์ฟ”  

“สิ่งที่ทรัสต์กอล์ฟต้องการจะทำที่สุด คือ หนึ่ง การสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างประชากรกอล์ฟให้มากขึ้น สอง พัฒนาทักษะเด็กให้เร็วที่สุด เราไม่มีเวลา 20 ปี มันนานเกินไป ขอ 2 ปี แล้วเทิร์นโปร เราอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นและ สาม คือ การสร้างโอกาส”

“เริ่มจากการที่ “ทรัสต์กอล์ฟ” ต้องการเพิ่มประชากรกอล์ฟ เพราะเมื่อไหร่ที่มีประชากรกอล์ฟขึ้น มันก็จะต่อยอดไปสู่ทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกอล์ฟ สิ่งที่สนใจมากที่สุดคือ เทคโนโลยี ด้วยความเป็นนักฟิสิกส์และชอบที่จะใช้เทคโนโลยีเอาเข้ามาจับกับกีฬา ซึ่งในกีฬากอล์ฟนั้นมีหลายเทคโนโลยีที่สามารถจะนำเข้ามาเพื่อพัฒนานักกีฬาได้”  

“ทฤษฎีตั้งต้น เรามีสมมุติฐานว่า ถ้าเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาจับการพัฒนานักกีฬาในประเทศบวกกับเรามีโอกาสที่จะให้นักกีฬาไปแสดงฝีมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะมี “ดาวดวงใหม่” เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นอาจจะ 1 ปี 2 ปี หรืออย่างมาก 3 ปี ไม่ใช่ 7 ปี หรือ 10 ปี เราเริ่มมาได้ 2-3 ปีแล้วและมีความพยายามที่จะเดินไปถึงจุดนั้น”   

“สิ่งที่เราต้องการทำ ไม่ใช่การสร้างนักกอล์ฟระดับท็อป 100 เพราะนั่นคือ นักกอล์ฟที่มีอยู่เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสนใจ 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ เราอยากทำให้ทุกคนได้เห็นว่า กอล์ฟสร้างโอกาสได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น สถาปนิกที่ตีกอล์ฟ จะออกแบบสนามกอล์ฟด้วยความเข้าใจ, วิศวกรที่ตีกอล์ฟ ก็จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเกี่ยวกับกอล์ฟ โดยไม่ต้องใช้นักกอล์ฟมาทดลอง แต่วิศวกรที่ตีกอล์ฟสามารถทดลองได้ด้วยตัวเอง ฃหรือถ้าจะออกแบบ simulator เครื่องจำลองการเล่นกอล์ฟด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองก็สามารถจะรู้ได้ว่าต้องทำแบบไหนถึงจะสนุก”

นักกายภาพ ก็จะรู้และเข้าใจสรีระในการพัฒนาร่างกาย, นักจิตวิทยา จะเข้าใจความรู้สึกของนักกอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นครูหรือแพทย์ ทุกอาชีพที่มีอยู่แค่ใส่กอล์ฟเข้าไปอย่าคิดว่ากอล์ฟเป็นกีฬาหรูหรือเข้าถึงยาก จริงๆแล้วกอล์ฟเข้าถึงได้ง่าย แค่เรารู้จักว่า ดูกอล์ฟแล้วสนุก เข้าใจ จะสามารถต่อยอดอาชีพของตัวเองไปได้อีกมากมาย

นี่คือพันธกิจ แต่สิ่งนี้เรายังทำไม่ได้เราอยากให้กอล์ฟไปอยู่ในทุกๆโรงเรียนด้วยซ้ำไป เราสอนเทเบิลเทนนิส, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอลได้ ทำไมเราไม่สอนทฤษฎีกอล์ฟ หรือ กฎ กติกากอล์ฟง่ายๆ ให้เด็กๆทุกโรงเรียนได้เข้าใจ ซึ่งไม่น่าจะยาก เราอยากให้เกิดแบบนั้นขึ้นซึ่งโครงการที่อยากจะทำที่สุดกลับทำได้ช้าที่สุด ก็คือ กอล์ฟโรงเรียน

กำเนิดกอล์ฟรูปแบบผสม

“ทรัสต์กอล์ฟ เปิดขึ้นมาในปี 2019 ก็เจอโควิด 19 มาถึงปี 2020 ต้นปีก็ถูกปิด 3 เดือน เพราะสถานปฏิบัติการที่ อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เป็นอาคารในร่มสถานฟิตเนสและออกกำลังกายอาจจะเอื้อต่อการแพร่ระบาด เมื่อถูกปิดแบบนั้นถ้าทำในร่มไม่ได้ เราต้องออกจากกรอบ ทำหนึ่ง ทำสอง แล้วทำสามไม่ได้ ขอข้ามไป “ทำสิบ” เลยแล้วกัน เราเปิดประตูบ้านไว้รอ เราขอไปสร้างโอกาสก่อนด้วยการจัดรายการแข่งขันกอล์ฟต่างๆ ที่เรามีในวันนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”  

“เดิมเราคิดแต่แรกว่า จะขอสร้างคนก่อนสร้างนักกีฬาแล้วจะสร้างรายการแข่งขันทีหลัง แต่เมื่อโควิดทำให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ นักกอล์ฟของทรัสต์กอล์ฟต้องไปขายของออนไลน์ ขายคุกกี้ ขนมเค้ก ข้าวมันไก่ เพราะเขาไม่มีการแข่งขัน เรายังช่วยสั่งของเพื่อเอาไปแจกจ่ายให้ตามโรงพยาบาล  3-4 หมื่นบาทต่อวัน นักกอล์ฟต้องมาขายของเป็นพ่อค้าแม่ค้าเพราะไม่มีการแข่งขัน รายได้เขามาจากการแข่งขันเราจึงต้องทำทัวร์นาเมนท์ขึ้นมาให้เด็กได้แข่งก่อน”

เมื่อกอล์ฟมีชาย-หญิง ก็เริ่มที่ “ไทยแลนด์ มิกซ์” ให้ทุกคนแข่งกันได้ สนามเดียวกัน เงินรางวัลเดียวกัน เด็ก ๆ นักกีฬาก็ไปซ้อม เพื่อมาแข่ง แต่โควิดยังมีอยู่ต้องมีกฎระเบียบให้แข่งขันอย่างปลอดภัย ตอนนั้นการตรวจเข้มข้นมากก็ให้ทุกคนตรวจฟรี หมดไป 2 ล้านบาท ถือว่าหนักมากแต่อยากทำเพราะอยากให้ทุกคนเห็นว่ามันจัดได้จริงๆ ถ้ามีการสนับสนุนและมีการป้องกัน เงินรางวัล 3 ล้านบาท นักกีฬาชาย-หญิง ก็แบ่งๆกันไป

“ในตอนแรกก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้างในการเอานักกีฬาชายกับหญิงมาแข่งขันกัน แต่เราคิดแค่ว่า ไม่อยากให้นักกีฬาร้างสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนักกีฬาชาย-หญิงมาแข่งกอล์ฟกันในรายการ “ไทยแลนด์มิกซ์” บรรยากาศก็ซอฟท์ลง รีแลกซ์มากขึ้น กอล์ฟระยะ 100 หลา นักกีฬาชายหรือหญิงก็ทำสกอร์ได้เท่ากัน”

“นักกอล์ฟจะต้องสู้กับความรู้สึกของตัวเอง นักกีฬาชายได้เห็นความละเอียดของผู้หญิง มันจะมีโมเมนต์ที่เห็นกันและกัน  นักกีฬาหญิงแข่ง 4 วัน ก็ต้องฝึกตัวเองเพิ่มขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น นักกอล์ฟมีความเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนกันมากขึ้น ทุกคนรู้จักกันหมด ไม่ว่าชาย หญิง เด็ก คนแก่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทุกคนคือนักกอล์ฟแค่นั้นเอง”  

“เป้าหมายของทรัสต์กอล์ฟตั้งแต่ปี 2019 คือ การจัดการแข่งขันกอล์ฟ “เวิลด์ มิกซ์ - World Mixed” ชิงเงินรางวัล 10 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สถานการณ์ต้องปิดประเทศเพราะโควิด มันก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิด ไทยแลนด์ มิกซ์ ขึ้นมาแล้วก็ต่อยอดไปได้ แต่เป้าหมาย เวิร์ล มิกซ์ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เราเรียนรู้ที่จะพัฒนาอย่างไร ด้วยการใช้สถานการณ์โควิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือ การสร้างทางเดินมากขึ้นเพื่อให้มีช่องทางเปิดโอเพ่นให้นักกีฬาทุกคนได้ควอลิฟาย ไม่ว่าจะเล่นในรายการไหนของโลก เราไม่อยากให้แบ่งหญิง ชาย ไม่ว่า จูเนียร์ ซีเนียร์ พีจีเอ แอลพีจีเอ ทุกคนสามารถมาแข่งขันรายการของทรัสต์กอล์ฟได้”

“เราไม่อยากให้แบ่งเพศ ไม่แบ่งว่าเป็นเด็ก หรือซีเนียร์ อยากให้เป็นแค่ “กอล์ฟ” ทุกคนเท่าเทียมกัน”  

สปอนเซอร์พูล 100 ล้าน

ดร.ปริญ ได้กลายเป็นคนในวงการกีฬากอล์ฟไปแล้ว มองว่า กีฬากอล์ฟในประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนา

“เยาวชนรุ่นใหม่นี่แทบไม่ต้องรอ 7 ปี ที่จะได้ทัวร์การ์ดมันมีความหลากหลายมาก หมายถึงว่า เราเริ่มเทิร์นโปรไปแข่งเอเชียนทัวร์ เจแปนทัวร์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ พีจีเอ ตอนนี้แตกไปเป็นซีรีส์มากมายถือว่าเป็นปีของกอล์ฟ เรามองว่าเด็กไทยศักยภาพสูงมาก สามารถขึ้นลีดเดอร์บอร์ดได้ เด็กไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลกเรามีของดีอยู่ในมือมาก กอล์ฟเป็นกีฬาที่สร้างโอกาสให้ประเทศไทยอย่างมากจริง ๆ”

“เรามีนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงมาก อยู่ที่เราจะสนับสนุนอย่างไร ก็คือการให้โอกาสนักกอล์ฟทุกคนส่วนใหญ่ขาดสปอนเซอร์  ถ้าเราสามารถทำ “สปอนเซอร์พูล” ขึ้นมา เราต้องการแค่ 1 ล้านบาทจาก 100 องค์กร หรือ 5 แสนบาทจาก 200 องค์กร หรือ 5 หมื่นบาท จาก 2,000 องค์กร ใส่เงินลงขันมาก็จะได้ 100 ล้านบาท เราคิดว่า ปีนี้ เป้าหมายคือ เราจะมีนักกอล์ฟในพีจีเอ 5 คน แอลพีจีเอ 15 คน  ถ้าเราจะทำอย่างนั้นเราจะต้องเตรียมนักกีฬากี่คน ต้องใช้เท่าไหร่ต้องตั้งไว้เลย เพื่อพาให้เขาไปถึงฝันด้วยการส่งผ่านเข้าไปจนได้ทัวร์การ์ดหรือสร้างเส้นทางต่อที่เขาจะไปถึงโอกาสได้เอง”  

“สปอนเซอร์พูล” เป็นไปได้แน่นอนในประเทศไทยมีองค์กรมากมายที่อยากจะสนับสนุนกีฬา อาจจะมีข้อตกลงกับนักกีฬาไปเลยว่า ถ้าชนะแล้วได้เงินรางวัลกลับมาขอ 20 เปอร์เซ็นต์กลับมาเป็นกองทุนให้น้องๆ รุ่นต่อไป เพื่อปีถัดไปจะได้มีเงินไปต่อ ถ้าทุกองค์กรทำอย่างนี้ได้แต่ละองค์กรมี CSR อยู่แล้วเงินสปอนเซอร์พูลเหล่านี้ไม่ได้มากมายอะไร”

สร้างโอกาสครั้งใหญ่เพื่อก้าวต่อไป 

ก่อนที่จะมีพันธมิตรมาร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนและพัฒนากีฬากอล์ฟในเมืองไทย “ทรัสต์กอล์ฟ” ได้เดินหน้าสร้างเส้นทางที่เป็นโอกาสในเวทีกอล์ฟ ในรูปแบบการแข่งขันผสมชาย-หญิง  “ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ ซีรีส์”  ซึ่งเป็นแมตช์โคแซงชั่น เก็บคะแนนสะสมของ เอเชียน ทัวร์ และ เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยน ทัวร์  2 รายการ ได้แก่  "ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ คัพ" วันที่ 7-10 เมษายน 2565 และ  "ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียน มิกซ์ สเตเบิลฟอร์ด ชาลเลนจ์" วันที่ 13-16 เมษายน 2565 ชิงเงินรางวัลรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 49 ล้านบาท) ที่สยามคันทรีคลับ วอเตอร์ไซด์ พัทยา จ.ชลบุรี  

ดร.ปริญ ยืนยันว่านี่คือ การก้าวสู่ระดับนานาชาติกับการแข่งขันรูปแบบใหม่  นั่นคือ การเล่นกอล์ฟแบบผสมชาย-หญิง แข่งขันสนามเดียวกัน ชิงถ้วยเดียวกัน มีเวิล์ดแรงกิ้งทั้งหญิง-ชาย ถือเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟไทยสู่การแข่งขันระดับสากล เป็นการสร้างโอกาสครั้งใหญ่เพื่อนักกีฬากอล์ฟของไทยจะได้ก้าวต่อไป  

มีคนถามว่าที่ทำมาทั้งหมดนี้เราจะได้อะไรบ้าง คำตอบง่าย ๆ ของ ดร.ปริญ ก็คือ

          “เรายังไม่ได้วันนี้ แต่เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราทำวันนี้เราจะได้กลับคืนมาแน่นอนภายใน 10 ปีหรืออาจจะเร็วกว่านั้น” 

Previous
Previous

Siamese Fireback Trophy

Next
Next

ทีเค รัชชานนท์ ฉันทนานุวัฒน์ ผงาดคว้าแชมป์ TrustGolf Asian Mixed Cup 2022